เมื่อฝึกฝนอบรมตนให้พร้อมทั้งด้านศีล สมาธิ และปัญญาแล้ว พระสงฆ์ยังจะต้องปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ คือ การเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า การเผยแผ่พระธรรมจะได้ผลดีนั้น พระสงฆ์ต้องทำตนให้เป็น 'กัลยาณมิตร' คือเพื่อนที่แท้ ที่คอยชี้แนะแนวทางให้พุทธศาสนิกด้วยความหวังดี ซึ่งขอกล่าวโดยสรุป 5 ประการ คือ
1) สร้างศรัทธาในพระพุทธศาสนาและทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี พระสงฆ์ต้องพยายามชักชวนและชี้แจงให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ให้มั่นใจในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เช่น ถ้ามีบางคนเช้าใจว่าพระพุทธศาสนาสอนหลักธรรมที่สูงเกินไปกว่าสามัญชนจะปฏิบัติได้ ก็ชี้แจงให้เขาเข้าใจว่า ที่จริงแล้วพระพุทธศาสนาสอนธรรมะไว้ถึง 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน เน้นไปที่การประสบความสำเร็จ การมีความสุขแบบชาวโลก การพึ่งตนได้ทางเศรษฐกิจ ระดับกลาง เน้นไปที่ความมีคุณธรรมจริยธรรมและ ระดับสูง เน้นไปที่การลดละกิเลสได้เด็ดขาด ธรรมะคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงเหมาะแก่คนทุกระดับ ใครพอใจหรือมีความสามารถปฏิบัติได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น แล้วค่อยพัฒนาให้ก้าวสูงขึ้นไปตามลำดับ
อนึ่ง วิธีสร้างศรัทธาที่ดีที่สุดก็คือการสอนด้วยตัวอย่าง พระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ งดงามไปด้วยศีล สมบูรณ์ไปด้วยคุณธรรม มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ถึงจะไม่สั่งสอนอะไรใครมาก ก็ทำให้ผู้พบปะเสวนาด้วยเกิดความเลื่อมใสได้เป็นอย่างดี
2) สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในบางครั้งบางคนอาจจะไม่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มิใช่เพราะพระพุทธศาสนาสอนไม่ดี แต่เพราะไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด จึงเหมาเอาว่าพระพุทธศาสนาไม่ดี ไม่น่าเลื่อมใสศรัทธา ยกตัวอย่างเช่น กล่าวหาว่าพระพุทธศาสนาสอนหลักธรรมที่ขัดกับการพัฒนาคนและสังคม เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้กำจัดตัณหา โดยเขาให้เหตุผลว่า การจะพัฒนาอะไรได้นั้น ต้องเร้าให้คนเกิดความอยาก เกิดความต้องการ เมื่อต้องการมากๆก็จะกระทำหรือพัฒนาตนมากขึ้นเอง พระพุทธศาสนาสอนให้ละความอยากก็เท่ากับสอนให้คนงอมืองอเท้า ไม่สร้างสรรค์นั่นเอง
พระสงฆ์ผู้เผยแผ่ธรรมะจะต้องสามารถชี้แจงให้เกิดความเข้าใจให้ได้ว่า ความอยากที่เรียกว่า 'ตัณหา' นั้น เป็นความโลภและทุจริต คนที่อยากด้วยอำนาจความโลภและทุจริต ย่อมจะกระทำการอะไรเพื่อตนเองและสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมเป็นอย่างมาก ถ้ายิ่งเร้าให้คนเกิดความอยากชนิดนี้มากเท่าใด สังคมก็จะเต็มไปด้วยคนโลภ คนทุจริต คนที่เอารัดเอาเปรียบสังคม หาความสงบสุขได้ยาก ความอยากอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พยายามลดละให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ความอยากสร้างสรรค์ เช่น อยากทำความดี อยากช่วยเหลือคนอื่น อยากเรียนหนังสือให้มีความรู้มากๆเพื่อออกไปรับใช้ชาติ ท่านเรียกว่า 'ธรรมฉันทะ' คนที่มีความอยากชนิดนี้เป็นคนไม่โลภ ไม่ทุจริต จะตั้งหน้าตั้งตาทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ความอยากชนิดนี้เท่านั้นที่สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง สรุปให้เข้าใจง่ายๆก็คือ 'พระพุทธศาสนาสอนให้กำจัดความ อยากที่เรียกว่าตัณหา แต่ให้พัฒนาความอยากที่เรียกว่า ธรรมฉันทะ'
3) สอนให้ละความชั่ว คนทุกคนชอบความดีเกลียดความชั่ว แต่ทั้งๆที่ชอบความดีเกลียดความชั่ว ในบางครั้งบางคนก็อดทำความชั่วไม่ได้ เพราะความหลงผิดบ้าง เพราะจิตใจไม่เข้มแข็งพอบ้าง หน้าที่ของพระสงฆ์อีกประการหนึ่งก็คือ พยายามหาวิธีให้คนละทำความชั่วแต่ให้พึงทำความดีให้ได้ สิ่งใดบอกให้เข้าใจได้ก็บอก สิ่งใดบอกด้วยปากไม่ได้ผลก็ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ดังกรณีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เดินไปเห็นเนื้อติดบ่วงนายพรานอยู่จึงปล่อยเนื้อตัวนั้น แล้วเอาบ่วงผูกขาตนเองแทน เมื่อนายพรานเจ้าของบ่วงมาพบเข้า จึงสำนึกว่าท่านมาแสดงปริศนาธรรม มาสั่งสอนตนให้งดเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งนายพรานก็ยอมทำตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงเลิกอาชีพการเป็นนายพรานนับตั้งบัดนั้น ดังนี้เป็นต้น
4) สนับสนุนให้ทำความดี พระสงฆ์ต้องสร้างเสริมกำลังใจให้คนทำความดี มีเทคนิควิธีแนะนำที่เหมาะแก่บุคคล เพราะคนเรานั้นมีพื้นฐานและความสนใจไม่เหมือนกัน ผู้สอนจึงต้องรู้จักปรับวิธีการแนะนำสั่งสอนให้เหมาะแก่คนแต่ละคนว่าจะเป็นเรื่องใด ดังกรณีผู้ปฏิบัติสมาธิ บ่นกับอาจารย์สอนสมาธิรูปหนึ่งว่า เขาหมดกำลังใจปฏิบัติแล้ว ยิ่งปฏิบัติเท่าใดก็มีแต่ความฟุ้งซ่าน ไม่ได้ผลอะไรเลย อาจารย์ตอบว่า 'อย่างน้อยโยมก็ได้แล้ว คือได้ความรู้ว่าจิตโยมฟุ้งซ่าน ถ้าปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆโยมก็อาจจะได้มากกว่านี้ ขอให้ทำต่อไปเถอะ ความดีมิใช่ว่าทำได้ในภายในวันสองวัน อย่างนี้เป็นต้น
5) สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพไว้สืบทอดพระพุทธศาสนา ถึงพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระธรรมวินัย (พระพุทธศาสนา) ก็ยังคงอยู่ เพราะได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมา พุทธบริษัททั้งหลาย โดยเฉพาะภิกษุบริษัทมีหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาโดยตรงจึงต้องสร้างศาสนทายาทที่มีคุณภาพไว้ด้วย ศาสนทายาทที่มีคุณภาพจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ
1. มีความรู้พระพุทธศาสนาดี
2. มีความประพฤติดี สามารถปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาจนได้รับผลแห่งการปฏิบัติ
3. มีความสามารถในการถ่ายทอด คือ ชี้แจงหลักการของพระพุทธศาสนาให้คนอื่นเข้าใจได้
4. เมื่อมีภัยเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนา พร้อมที่จะปกป้อง
การสร้างบุคลากรไว้สืบทอดพระพุทธศาสนานั้นเปรียบได้ดั่งตระกูลที่ไม่มีทายาทสืบทอด แม้จะมั่งคั่งมั่นคงเพียงใดในเบื้องต้น ที่สุดก็จะอยู่ไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับพระพุทธศาสนา แม้จะมีคำสอนที่ดีวิเศษเพียงใด ถ้าขาดศาสนทายาทสืบทอดต่อๆกันมา ก็สูญสลายไปเช่นนั้น' ฉะนั้น พระสงฆ์ที่มองการณ์ไกลท่านจึงพยายามสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ไว้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้มั่งคงสถาพรต่อไป
เมื่อกล่าวดังนี้แล้วย่อมพิจารณาได้ว่าหัวใจสำคัญในการเผยแผ่พระธรรมวินัย พระพุทธศาสนาก็เพื่อประโยชน์สุขของชาวโลก และประโยชน์ตามพุทธประสงค์ก็ทรงวางไว้ 3 หลัก เรียกว่า อัตถะ คือ ประโยชน์, จุดหมาย, ผลที่มุ่งหมายปรารถนา ดังนี้
1. ทิฎฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ในชาตินี้)
2. สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์ชาติหน้า)
3. ปรมัตถะ (ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน)
ประโยชน์หรือจุด มุ่งหมายทั้ง 3 ประการนี้ คือ สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้พุทธบริษัท 4 เพื่อที่จะไม่คลาดไม่พลัดตกจากประโยชน์อันพึงจะได้ในพระพุทธศาสนานี้